การเข้าถึงความยุติธรรมและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายยังเป็นเงื่อนไขและเป็นเป้าหมายสำคัญข้อหนึ่งของสหประชาชาติ ดังจะเห็นได้จาก ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the Universal Declaration of Human Rights) ค.ศ. ๑๙๔๘ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง (the International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ค.ศ. ๑๙๖๖ ซึ่งระบุถึงสิทธิการมีสิทธิเท่าเทียมกันก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย การใช้หลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิการได้รับการพิพากษาที่มีความยุติธรรมและเป็นกลาง รวมไปถึงสิทธิการสู้คดีอาญาของผู้ถูกกล่าวหาโดยตนเองหรือโดยมีผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายเป็นตัวแทนและการได้รับการพิจารณาคดีโดยไม่ล่าช้า ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศสมาชิกประเทศหนึ่งที่ได้ให้การรับรองลงนามในสัตยาบันไว้ และได้มีการอนุวัติบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้ด้วย
ในปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ระบบทนายความขอแรงในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยมีเป้าหมายเพื่อรับรองการเข้าถึงความยุติธรรม แต่ระบบทนายความขอแรงนี้ยังคงมีปัญหาขาดประสิทธิภาพ แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายและจัดหาทนายความมีหลายหน่วยงาน เช่น ศาล สภาทนายความ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด กองทุนยุติธรรม เป็นต้น ปัญหาด้านประสิทธิภาพของระบบทนายความขอแรงนี้ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิที่ตนพึงได้รับหรือได้รับการให้ความช่วยเหลือที่ไม่มีคุณภาพเพียงพอ ถูกตัดสินให้เป็นผู้กระทำความผิดและต้องรับโทษอย่างไม่เป็นธรรม ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคของระบบทนายความขอแรงและวิเคราะห์โดยอ้างอิงทฤษฎีด้านการบริหารและทฤษฎีองค์กร
เพื่อเสนอแนะแนวทางในพัฒนาระบบทนายความขอแรงโดยการจัดตั้งองค์กรทนายความขอแรง
Download ไฟล์ฉบับสมบูรณ์ : องค์การทนายขอแรง