“การแก้ไขปัญหายุติธรรม เจ้าหน้าที่ยุติธรรม ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน อาสาสมัครชุมชนและภาคประชาชน”

 

วันที่ 20 มกราคม 2561 วันที่ 3 ของโครงการอบรมคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน รุ่นที่ 3 ณ ชลพฤกษ์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก นางกรรณิการ์ แสงทอง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการอบรมโครงการอบรมคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน รุ่นที่ 3

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เน้นหนักในนโยบายที่ รมว.ยธ. ได้มอบไว้ ดังนี้

-การแก้ไขปัญหาระดับชุมชน เจ้าหน้าที่ต้องเข้าถึงพื้นที่ และทำความเข้าใจในปัญหานั้นอย่างถ่องแท้ เพื่อช่วยแก้ปัญหา เช่น ปัญหาการกู้ยืมเงิน ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เจ้าหน้าที่จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจหรือเข้าไปแนะนำ เนื่องจากบางกรณีอาจมาจากการล่วงละเมิดทางเพศ ต้องสามารถหาทางช่วยเหลือให้กับประชาชนได้

-การแก้ไขปัญหาคนล้นคุกและการฟื้นฟูผู้กระทำความผิด โดยคดีส่วนใหญ่ คือ คดียาเสพติด ในปัจจุบันนักโทษหญิงมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจมาจากการถูกหลอกให้กระทำผิดโดยไม่รู้ และในปัจจุบันคดียาเสพติดมีการปรับลดโทษลง เพื่อให้ศาลได้พิจารณาตามพฤติการณ์ของผู้กระทำผิดได้กว้างขึ้น

-การปฏิบัติงานของสำนักงานสำนักงานยุติธรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่ยุติธรรมจังหวัดจะต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่แบ่งแยกกลุ่มในการทำหน้าที่ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องสามารถให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทุกคน

และนอกจากนี้ ยังได้บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ยุติธรรมชุมชน พลังประชาชน” โดยอธิบายถึงปัญหาในระดับชุมชน ได้แก่
-ปัญหาการไม่รู้กฎหมายและบทลงโทษ
-ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ทำให้คนในชุมชนต้องทำอาชีพผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด การค้าประเวณี เป็นต้น

-ปัญหาการตกเป็นเหยื่อหรือผู้เสียหายในคดีอาญา กระทรวงยุติธรรมมีหน่วยงานกองทุนยุติธรรม และ สำนักงานช่วยเหลือผู้เสียหายและเหยื่อในคดีอาญา เพื่อเป็นการเยียวยาเบื้องต้นและแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

-การบูรณาการการทำงานของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ ผานกลไก กพยจ. ต้องไม่คำนึงว่างานเป็นงานของใคร ต้องคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ

-เน้นการนำภาคประชาชนมาเป็นหุ้นส่วนในกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมความรู้ให้กับประชาชนให้เห็นความสำคัญของปัญหาในชุมชน และร่วมกันแก้ปัญหาผ่านการดำเนินงานของศูนย์ยุติธรรมชุมชน

การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ยุติธรรมระดับจังหวัด ไม่สามารถทำโดยลำพังได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความร่วมมือจากคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน อาสาสมัครชุมชนและภาคประชาชน เป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า การทำงานในระดับชุมชนนั้น ถือเป็นงานที่ต้องการพลังจากคนในชุมชน เป็นงานจิตอาสา เพราะนอกเหนือจากงานในหน้าที่แล้ว ยังต้องเสียสละเวลาเพื่อสร้างความเข้าถึงสภาพชีวิตและสภาพจิตใจของประชาชนระดับชุมชนอีกด้วย

132 Views