เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 เวลา 10.30 น. ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมอนุกรรมการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ ครั้งที่ 2/2561 โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และพัฒนากระบวนการยุติธรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติ ดังนี้
1. รับทราบมติคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 : แนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ
2. รับทราบมติคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2559 : การพัฒนาระบบสอบสวนในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และคดีค้ามนุษย์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับระบบไต่สวนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559
3. รับทราบการดำเนินการโครงการวิจัยเพื่อนำเครื่องมือประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย หรือ LEI มาทดลองใช้ ประกอบด้วยโครงการติดตามและประเมินผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 ผ่านเครื่องมือการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย และโครงการติดตามและประเมินผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ผ่านเครื่องมือการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมาย
4. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการ ด้านที่ 4 การบูรณาการงบประมาณด้านการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนา ปรับปรุงและการบังคับใช้ รวมทั้งการเผยแพร่กฎหมายฯ เพื่อเสนอขอจัดสรรงบประมาณบูรณาการ แผนงานงานบูรณาการ ปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ประจำปีงบประมาณ 2563 และมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ เสนอกรอบแนวทางดังกล่าวให้ กพยช. พิจารณา ก่อนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. เห็นชอบแนวทางในการยกร่างกฎหมายว่าด้วยทะเบียนประวัติอาชญากรในประเด็นเกี่ยวกับ การจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร การจัดการข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร การลบข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร และผลของการลบข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากรและในประเด็นอื่นๆ ตามข้อสังเกตของคณะอนุกรรมการฯ พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยทะเบียนประวัติอาชญากร และในระยะเร่งด่วนให้ดำเนินการศึกษาแนวทางในการปรับปรุงระเบียบ กฎเกณฑ์ของทางราชการให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิดได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงานหรือสถานประกอบการที่สอดคล้องกับความรู้สามารถภายหลังการพ้นโทษหรือออกจากกระบวนการยุติธรรมเพื่อเสนอคณะอนุกรรมการฯ และ กพยช. ต่อไป