สกธ.ชี้เเจง ร่างพรบ.แก้ไขเพิ่มเติม เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา

new222222

 

2 กันยายน 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 อาคารเทเวศร์ นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม เข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา) ต่อคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมประชุม อาทิ ศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย และสภาทนายความ
ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงานกิจการยุติธรรมได้ชี้แจงความเป็นมา หลักการและเหตุผล ข้อสังเกตและความเห็นของหน่วยงาน สถิติและข้อมูลประกอบการเสนอและพิจารณาร่างกฎหมาย ตลอดจนได้ชี้แจงถึงแผนและแนวทางการดำเนินงานระหว่างเสนอร่างกฎหมาย และเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ ดังนี้
1. เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน บุคลากรที่ต้องบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมาย รวมถึงเด็กและเยาวชน
2. ดำเนินการตามแนวทางของพระราชบัญญัติจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
3. บูรณาการความร่วมมือในการใช้กฎหมาย ระหว่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ (ประชุมซักซ้อมความรู้ความเข้าใจ ให้ทราบแนวปฏิบัติเดียวกัน)
4. ศึกษา ค้นคว้า และทำวิจัยทั้งในมิติการติดตามและประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายและมิติการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
5. พัฒนาบุคลากร สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ปฏิบัติต่อเด็กตามกฎหมายฉบับนี้ได้ (คู่มือการปฎิบัติต่อเด็กที่ต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแต่อายุไม่ถึงเกณฑ์รับโทษทางอาญา)
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่จะกำหนดเพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดโดยไม่ต้องรับโทษทางอาญาจากอายุ 10 ปี เป็นอายุ 12 ปี ตามหลักการที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ด้วยเห็นว่าผู้กระทำความผิดยังมีอายุน้อย ยังขาดวุฒิภาวะในการไตร่ตรองยับยั้งชั่งใจ จึงยังไม่สมควรได้รับการลงโทษ อีกทั้งยังเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงแผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563
119 Views