การประชุมพิจารณาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ

new2 15

 

22 ตุลาคม 2563 เวลา 9.30 น. ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 2 ชั้น 8 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม ผู้เเทนสำนักงานกิจการยุติธรรม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุม ที่ประชุมได้รับทราบข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ที่มีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร ไปร่วมพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันพิจารณาการกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิด ซึ่งสำนักงานกิจการยุติธรรมได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงกรณีที่ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมโดยละเอียดอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยได้จัดทำแบบประเมินความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำ และจัดทำโปรแกรมที่ใช้ในการบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำความผิดคดีทางเพศเป็นการเฉพาะ ซึ่งหัวข้อวิจัยดังกล่าวนี้ สำนักงานกิจการยุติธรรมอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยร่วมกันกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และมีกำหนดเวลาแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2564 นอกจากนี้ยังได้จัดทำระบบลงทะเบียนผู้กระทำความผิดคดีทางเพศ และมาตรการลงโทษคดีเกี่ยวกับเพศโดยใช้ยาเพื่อปรับฮอร์โมนของผู้กระทำผิด (Chemical Castration)
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เข้ามามีส่วนร่วมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำแผนบูรณาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม แนวทางในการปฏิบัติสำหรับผู้กระทำความผิด จัดทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม การสร้างการรับรู้กฎหมาย ตลอดจนการให้ความคุ้มครองแก่ผู้เสียหายในคดีดังกล่าวด้วย
115 Views