สกธ.หารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์

new2 1

 

30 พฤศจิกายน 2563 เวลา 11.00 น. ถึง 14.30 น. นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม พร้อมด้วยนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม และคณะ เข้าพบและหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกับนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และปลัดกระทรวงยุติธรรม ใน 2 เรื่อง สำคัญ ได้แก่ 1) การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ และ 2) การออกกฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 เกี่ยวกับการทุเลาการบังคับโทษจำคุก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. เรื่อง การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ซึ่งต่อเนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 โดยมี ดร.โฆสิต สุวินิจจิต เป็นประธาน ได้มอบหมายให้สำนักงานกิจการยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ไปหารือการกำหนดขอบเขตการดำเนินงาน (TOR) โครงการจ้างเหมาผู้เชี่ยวชาญศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ สรุปประเด็นได้ดังนี้

1.1 ประเด็นที่จะต้องทำการศึกษาคือ รูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ว่ารูปแบบใดเหมาะสม และมีความเป็นไปได้ในการดำเนินการมากที่สุด เพื่อตอบโจทย์ลดการกระทำผิดซ้ำ และความแออัดในเรือนจำ ซึ่งกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานไว้ 120 วัน ทั้งนี้ ในวันที่ 4 ม.ค. 2564 จะได้รายงานความคืบหน้าต่อคณะกรรมการราชทัณฑ์ และขับเคลื่อน/ติดตามการดำเนินงานโดยกลไกของคณะอนุกรรมการฯ และที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม

1.2 คุณสมบัติของผู้ที่จะมาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมฯ ได้แก่ ผู้พ้นโทษ ผู้ต้องขัง (พัฒนาพฤตินิสัย เตรียมความพร้อมก่อนปล่อย) และอาจรวมถึงญาติหรือครอบครัวของบุคคล 2 กลุ่มข้างต้น องค์ประกอบที่ต้องพิจารณา อาทิ การทำงาน การพักอาศัย และการประกอบอาชีพ

1.3 ที่ประชุม ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ แนวทางการบริหารงานโครงการ การกำหนดกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มเป้าหมายในงานวิจัยให้ครอบคลุม การใช้สถิติผู้ต้องขัง อาทิ จำนวนผู้กระทำผิดซ้ำ ประเภทคดี ประเภทนักโทษ พร้อมเสนอว่าปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาประกอบเพิ่มเติมคือ เรื่อง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการ การคัดกรอง และแนวทางการจำแนก (คน ระบบ งาน และงบประมาณ)

1.4 สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ส่งต่อองค์ความรู้ผ่านงานวิจัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดแนวความคิดและผลการศึกษา อาทิ โครงการศึกษาวิจัยการจัดตั้งองค์กรเพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษ และโครงการวิจัยการเพิ่มคุณค่าผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษภายใต้แบรนด์ผลิตผลคนดี

2. เรื่อง กฎกระทรวงซึ่งออกตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 เกี่ยวกับการทุเลาการบังคับโทษจำคุก กับจำเลย 4 ประเภท ได้แก่ จำเลยที่วิกลจริต จำเลยที่อาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตถ้าจำคุก จำเลยมีครรภ์ และจำเลยที่คลอดบุตรยังไม่ถึง 3 ปีและต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น โดยมีประเด็นหารือและแนวทางการดำเนินงานต่อไป ดังนี้

2.1 สถิติและสถานการณ์ปัจจุบันของกรมราชทัณฑ์ที่ดำเนินการต่อจำเลยที่ศาลสั่งให้ทุเลาการบังคับโทษ

2.2 การกำหนดและการบริหารจัดการ ”สถานที่กักขัง” และ “ผู้ดูแลสถานที่ขัง” ตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 และกฎกระทรวง

2.3 แนวทางเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอาทิ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 มาตรา 89/2 และมาตรา 246 หรือกฎกระทรวงที่ออกตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 หรือการเสนอให้มีการออกข้อแนะนำประธานศาลฎีกา เพื่อให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับสภาวการณ์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการทุเลาการบังคับโทษจำคุก

2.4 สำนักงานกิจการยุติธรรม จะได้สรุปผลการหารือเพื่อนำเรียนปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย/กฎระเบียบ และอาจพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการต่อไป

95 Views