ยธ. ร่วมหารือการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย (ฉบับปรับปรุง)

new2 4

 

13 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น. นายสายชล ยังรอด ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน เป็นผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย (ฉบับปรับปรุง) โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายเป็นประธานในการประชุม ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ที่ประชุมได้มีการพิจารณาในส่วนของแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ในกิจกรรมปฏิรูปที่ 3 จัดให้มีกลไกกำหนดให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ควบคุม กำกับดูแล และการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย นำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานตามแผน คือ กระทรวงยุติธรรม (สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกิจการยุติธรรม)
นายนิยม เติมศรีสุข รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงบริบทที่เกี่ยวข้องของกระทรวงยุติธรรม ดังนี้
(1)กลไกของกระทรวงยุติธรรมตามกิจกรรมปฏิรูปที่ 3 จะมีการดำเนินการผ่านทางคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ซึ่งมีคณะอนุกรรมการภายใต้ กพยช. คือ คณะอนุกรรมการประสานและพัฒนาระบบงานยุติธรรมเป็นคณะอนุกรรมการหลักในการขับเคลื่อน โดยยึดตามแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 -2565) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 5 การขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมด้วยดิจิทัล ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
(2)กระทรวงยุติธรรมได้มีการดำเนินการจัดทำศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรม (DXC) ขึ้นแล้ว ปัจจุบันมี 41 ฐานข้อมูล หน่วยงานล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาร่วมคือ สำนักงานศาลยุติธรรม อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อให้ DXC เกิดภาวะ Automatic Exchange ให้ได้
(3)ขณะนี้ กระทรวงยุติธรรมได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 25 หน่วยงาน และได้มีการจัดแบ่งหน่วยงานเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ดำเนินการแล้ว กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และกลุ่มที่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งกลุ่มที่ยังไม่ได้ดำเนินการอาจยังไม่มีทรัพยากรในการดำเนินการก็อาจต้องนำไปเข้า ครม. เพื่อให้เห็นชอบเป็นหลักการ
ซึ่งทางด้านคณะกรรมการฯได้มีประเด็นความเห็น ดังนี้
(1)จากการพยายามเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผู้ต้องหาหรือข้อมูลนักโทษต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ กรณีในต่างประเทศถ้าเป็นบุคคลที่เป็นผู้ต้องหาคดีทางเพศจะมีการ monitor ในปัจจุบันมีการดำเนินการในลักษณะนี้หรือไม่
(2)ควรให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) เข้ามาร่วมดำเนินการขับเคลื่อนงานตามกิจกรรมปฏิรูปที่ 3 ด้วย พร้อมทั้งเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้โดยเร็ว อาจอาศัยกลไกของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน หรือคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย
(3)ควรให้มีการกำชับให้หน่วยงานรายงานแผนปฏิบัติราชการเข้าระบบ eMENSCR
(4)ในแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย อยากให้มีมิติของการช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมายด้วย
94 Views