27 มกราคม 2564 เวลา 09.30 น. ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูปตัวชี้วัดประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 8-04 อาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรมแห่งใหม่ ชั้น 8 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดตัวชี้วัดประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนี้
1.ตัวชี้วัดที่ 2 (E1) อัตราอาชญากรรมต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ลดลง คงตามคำนิยาม และวิธีการจัดเก็บแบบ AD โดยในการนำเสนอข้อมูลอัตราอาชญากรรมต่อจำนวนประชากร 100,000 คน ให้แยกตามฐานความผิดชีวิต/ร่างกาย และทรัพย์ที่มีการรับแจ้งความโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
2.ตัวชี้วัดที่ 6 (G3) คดีที่มีการชี้มูลว่าเจ้าพนักงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรมมีความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ การเลือกปฏิบัติ และ/หรือ การทุจริตหรือถูกแทรกแซงมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คงตามคำนิยาม และวิธีการจัดเก็บแบบ AD โดย 2.1 รวบรวมข้อมูลจาก อ.ก.พ. กรม หรือ อ.ก.พ กระทรวง สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (สง.ก.ตร.) สำนักงานคณะกรรมการอัยการ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และสำนักคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) โดยแยกเป็นข้อมูลความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ และข้อมูลทุจริต 2.2 รวบรวมข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในข้อมูลทุจริต
3.ตัวชี้วัดที่ 12 (G9) มีการวิเคราะห์และพัฒนาระบบทรัพยากรมนุษย์และการบริหารจัดการอย่างสม่ำเสมอ คงวิธีการจัดเก็บแบบ SA+OB และเพิ่มเติมนิยามเป็น “การประเมินในหน่วยงานหรือความเหมาะสมในการปฏิบัติงานในกระบวนการทำงาน และมีการตรวจประเมินความเหมาะสมและขีดความสามารถของอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในการปฏิบัติงาน และบุคลากรในการปฏิบัติงาน โดยสามารถใช้ผลการประเมินแบบรายงานการบริหารทรัพยากรบุคคลประจำปีของส่วนราชการระดับกรม ตามแบบที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด หรือการประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 (PMQA) สำหรับหน่วยงานอิสระสามารถใช้ผลการประเมินตามที่หน่วยงานกำหนดได้”
4.ตัวชี้วัดที่ 13 (G10) หน่วยงานมีการจัดเก็บและบูรณาการข้อมูลกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบ คงวิธีการจัดเก็บแบบ SA+OB และเพิ่มเติมคำนิยาม เป็น “หน่วยงานมีรูปแบบในการจัดเก็บข้อมูลและกระบวนงานในการจัดเก็บข้อมูลด้านกระบวนการยุติธรรมในรูปแบบดิจิทัลและมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก”