สกธ. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรชี้แจงและข้อมูล ร่างพ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….

cover for web 5 05

วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมพรรคร่วมรัฐบาล ชั้น 2 โซน C อาคารรัฐสภาพ.ต.ท.ดร. พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลความเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) ทั้งนี้ มีผู้แทนจากกรมคุมประพฤติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมประชุมและชี้แจงข้อมูลดังกล่าว โดย สกธ. ได้นำเสนอข้อมูลร่างกฎหมาย เพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุมในหัวข้อ ดังนี้ ที่มาและความสำคัญ สถิติที่เกี่ยวข้อง กฎหมายและแนวทางแก้ปัญหาของต่างประเทศ หลักคิดของร่างกฎหมาย ประโยชน์ที่ประชาชน และสังคมจะได้รับ รวมถึงสรุปภาพรวมของร่างกฎหมาย ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้ให้ข้อเสนอแนะ และคำแนะนำในการจัดทำข้อมูล สำหรับการนำเสนอร่างกฎหมายในขั้นตอนต่อไป สรุปประเด็นได้ดังนี้

1. เรื่อง ฐานความผิดตามร่างกฎหมาย ควรเพิ่มเติม กฎกระทรวงกำหนดความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง โดยให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในร่างมาตรา 3 เพื่อกำหนดฐานความผิดในคดีอาญาที่จะเข้าข่ายถือเป็นความผิดและต้องบังคับตามกฎหมายฉบับนี้

2. เรื่อง คณะกรรมการตามร่างกฎหมาย ควรเพิ่มเติม คำอธิบาย เหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีคณะกรรมการ จำนวน 2 คณะ ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ และควรเพิ่มเติม องค์ประกอบของคณะกรรมการ โดยเพิ่มผู้แทนองค์กรเอกชนหรือส่วนราชการด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อความน่าเชื่อถือ และถ่วงดุลการใช้อำนาจ รวมถึงป้องกันการใช้อำนาจรัฐฝ่ายเดียว

3. เรื่อง มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำตามร่างกฎหมาย ควรกำหนดกรอบแนวทางการบังคับใช้มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยการนำเสนอร่างกฎหมาย ควรเพิ่มเติมคำอธิบายรายหมวดให้ชัดเจน มีมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ตามร่างมาตรา 22  ควรเพิ่มเติมกฎกระทรวงเพื่อเปิดช่องเงื่อนไขการใช้หรือการปฏิบัติตามมาตรการไว้ ควรมีแนวทาง วิธีการ และความพร้อมของหน่วยงานรองรับการบังคับใช้มาตรการ ซึ่งมาตรการเริ่มจากเบาไปหาหนัก (แก้ไขฟื้นฟู เฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ คุมขังภายหลังพ้นโทษ คุมขังฉุกเฉิน) และการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพ กระบวนการ วิธีการใช้ จึงต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้โดยกระทบสิทธิประชาชนเกินสมควร

4. เรื่อง กระบวนการตามร่างกฎหมาย ควรเพิ่มเติม คำอธิบายการใช้ดุลพินิจตามร่างกฎหมาย เนื่องจากร่างกฎหมายเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ในหลายมาตรา อาจมีผลกระทบต่อแนวทางปฏิบัติ อาจต้องเพิ่มเติมแนวปฏิบัติในการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจ หรือกลไกการถ่วงดุลการใช้อำนาจนั้น

5. เรื่อง สิทธิของผู้เสียหาย หรือผู้ที่ต้องถูกบังคับตามกฎหมาย ควรเพิ่มเติม การเยียวยาและคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย จำเลย หรือผู้ที่ต้องบังคับตามกฎหมายฉบับนี้

6. เรื่อง ข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มเติม คำอธิบายสถิติกระทำผิดซ้ำ เพื่อประกอบการกำหนดฐานความผิดตามร่างกฎหมาย เนื่องจากสถิติการกระทำผิดซ้ำ ในคดีตามร่างกฎหมาย เช่น คดีเพศ คดีทำร้ายร่างกาย หรือฆาตกรรม เป็นต้น มีจำนวนน้อยกว่าคดียาเสพติด หรือคดีเกี่ยวกับทรัพย์

เรื่อง อื่นๆ มีการรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎหมายเพิ่มเติม เนื่องจากมีประเด็นด้านสิทธิและเสรีภาพ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการเสนอร่างกฎหมาย และขั้นตอนต่อไปของการเสนอร่างกฎหมาย คาดการณ์ว่า คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร จะเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบผลการพิจารณา และเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฏรตามขั้นตอนต่อไป (เดือนมกราคม 2565 ร่างกฎหมายจะเข้าสภา)

116 Views