สกธ.เข้าร่วมการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีที่สอง) ชี้แจงข้อมูลวาระการประชุม เรื่องด่วนที่ 6 ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

cover for web 5 14

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมวุฒิสภา อาคารวุฒิสภา (เกียกกาย) ชั้น 2 นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการนุติธรรม ผู้แทนสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีที่สอง) เพื่อชี้แจงและให้ข้อมูลในระเบียบวาระการประชุม เรื่องด่วนที่ 6 ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

📍 สืบเนื่องจากที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจาปีครั้งที่สอง) วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ได้ลงมติรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้วไว้พิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยสำนักงานกิจการยุติธรรมได้ร่วมเป็นกรรมาธิการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม บัดนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จแล้ว จึงเสนอผลการพิจารณาต่อที่ประชุมวุฒิสภาในวันนี้

📍 ร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญว่าด้วยการปรับเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการรับโทษทางอาญา จากเดิม 10 ปี เป็น 12 ปี โดยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 และมาตรา 74

🔺 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระที่ 2 โดยเริ่มต้นด้วยชื่อร่าง คาปรารภ และพิจารณาเรียงตามลาดับมาตราจนจบร่าง แล้วลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบด้วยกับสภาผู้แทนราษฎร ด้วยคะแนน 173 เสียง ไม่เห็นชอบ ไม่มี งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง ไม่มี พร้อมทั้งมีมติ เห็นชอบด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป

📍 สำหรับข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 8 ข้อ สรุปประเด็นได้ดังนี้
– กระบวนการส่งต่อเด็กที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมาย โดยนำประเด็นภูมิลำเนาเดิมของเด็กมาใช้ในการจำแนกหรือคัดกรองเด็กด้วย
– การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ในชั้นของพนักงานสอบสวน การกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขฟื้นฟูและคุ้มครองเด็ก รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดทำคู่มือ สื่อความรู้ และการฝึกอบรม เป็นต้น รวมถึงการจัดทำรายงานผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการบังคับใช้กฎหมาย
– ส่งเสริมให้มีกลไกหรือมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ดูแลเด็ก ในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อป้องกันการกระทำความผิดผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบออนไลน์
– การป้องกันการกระทำความผิดของเด็กโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
– การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือหรือสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก
– การรักษามาตรฐานในการปฏิบัติต่อเด็กให้เป็นไปตามหลักสากล และการรายงานผลการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายตามกลไก Universal Periodic Review (UPR)
– สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสถานแนะนำทางจิต และสถานฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนของเอกชน
– การดำเนินการเกี่ยวกับประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็ก

📍 ทั้งนี้ ถือได้ว่าการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นรัฐสภาได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และขั้นตอนต่อไป จะเป็นการประกาศใช้กฎหมาย ซึ่งสำนักงานกิจการยุติธรรมจะได้เตรียมความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมาย และขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวต่อไป

139 Views