เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม JA2 พ.ต.ท.ดร. พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และนางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการการกฎหมาย ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา เพื่อชี้แจงแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ทั้งนี้ สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้นำเสนอข้อมูลภาพรวมของร่างพระราชบัญญัติฯได้แก่ ที่มาและความสำคัญ สถานการณ์การกระทำผิดซ้ำของนักโทษเด็ดขาด (ความผิดตามร่างพระราชบัญญัติฯ อาทิ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย และความผิดต่อเสรีภาพ) ผลการศึกษาค้นคว้า แนวทางแก้ไขปัญหาการกระทำผิดซ้ำของต่างประเทศ โปรแกรมบำบัดผู้กระทำผิดทางเพศและผู้กระทำผิดที่ใช้ความรุนแรง สรุปสาระสำคัญของร่างฯ แผนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง และสถานะของร่างฯ ประเด็นข้อสังเกต และข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการประชุมสรุปได้ดังนี้
– เสนอให้นำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ไปใช้บังคับกับศาลทหาร หรือปรับใช้กับพระธรรมนูญศาลยุติธรรมได้ด้วย
– การอธิบาย หรือทำความเข้าใจเรื่องมาตรการตามร่างฯ อาทิ การเฝ้าระวัง การคุมขังภายหลังพ้นโทษ ต้องระมัดระวังการสื่อความในประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
– การมีกฎหมายเฉพาะฉบับนี้ จะเปลี่ยนแนวคิดการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน เอาคนผิดมาลงโทษ แต่จะใช้การบำบัดแก้ไขฟื้นฟู โดยการให้สังคมชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งถือว่าเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ควรจะมีกฎหมายเช่นนี้ออกมาใช้บังคับ
– เรื่องระยะเวลาในการมีผลใช้บังคับของกฎหมาย อาจพิจารณาปรับเป็น 120 วัน เพื่อให้หน่วยงานได้จัดทำอนุบัญญัติหรือเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมาย
– การเพิ่มเติมคดีตามฐานความผิดอื่นๆ ที่มีความรุนแรง หรือความเสียหาย อาทิ คดีทุจริตต่อหน้าที่
– การวางแผนในการจัดทำอนุบัญญัติ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น ฝ่ายเลขานุการ จะได้เร่งรัดการจัดทำรายงานผลการศึกษาเพื่อเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา และเตรียมการพิจารณาหากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร