การประชุมเพื่อเสริมสร้างกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรมระหว่างสำนักงานกิจการยุติธรรม กับ สถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน  

Pic for web 8 22

วันที่ 27 กันยายน 2565 เวลา 10.00 – 15.30 น. สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้จัดการประชุมเพื่อเสริมสร้างกลไกความร่วมมือในการขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรม ระหว่างสำนักงานกิจการยุติธรรม กับ สถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยวิธีการประชุมทางไกล (Video Conference) ผ่านระบบ Cisco Webex Meetings ณ ห้องประชุมกิจการยุติธรรม 2 (JA 2) โดย พ.ต.ท.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานในการประชุมฯ พร้อมด้วยนายชาตรี จันทร์เพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม คณบดีคณะรัฐศาสตร์หรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 26 แห่ง และคณบดีคณะสังคมศาสตร์หรือเทียบเท่าจากสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 34 แห่ง เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุมฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่องแนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับของสถาบันอุดมศึกษา พร้อมทั้งรับฟังประเด็นปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินการ ตลอดจนข้อเสนอแนะแนวทางขับเคลื่อน การดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีฯ ในระยะต่อไป โดยที่ประชุมฯ ได้มีข้อเสนอแนะร่วมกัน ดังนี้ เนื่องจากการบรรจุในหัวข้อวิชาฯ ไว้ในหมวดวิชาบังคับดำเนินการได้ค่อนข้างยาก และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลักสูตร สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่จึงมีวิธีดำเนินการที่หลากหลาย เช่น การบรรจุหัวข้อวิชาฯ ไว้ในหมวดวิชาบังคับ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) หรือหมวดวิชาเลือกเสรี รวมถึงการสอดแทรกหัวข้อการเรียนรู้ตามมติคณะรัฐมนตรีไว้ในรายวิชาที่มีอยู่แล้วในหลักสูตร และมีข้อเสนอแนะให้เพิ่มช่องทางการเรียนรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ช่องทางอื่นๆ ให้กับนิสิต นักศึกษา เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ และช่องทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นต้น เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ทั้งนี้ สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้รับทราบข้อสังเกตข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ และจะได้นำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เพื่อประกอบการพิจารณาเสนอเรื่องปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรี ให้มีแนวทางหรือรูปแบบดำเนินการเพิ่มเติมที่หลากหลาย เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สถาบันอุดมศึกษาจะสามารถดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสร้างความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในสถาบันอุดมศึกษาต่อไป

165 Views