เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 402 – 403 อาคารรัฐสภา สำนักงานกิจการยุติธรรมร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดการประชุมเสวนาทางวิชาการและนิทรรศการ “การป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง” มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยงานและประชาชนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันการกระทําความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 และการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำฯ คือการมีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดมาตรการพิเศษในการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ใช้บังคับกับผู้ที่กระทำความผิด 3 กลุ่ม ได้แก่ คดีเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย คดีเกี่ยวกับเพศ และคดีเรียกค่าไถ่ โดยใช้มาตรการพิเศษทางกฎหมายและทางปฏิบัติ 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด 2) มาตรการทางการแพทย์ 3) มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และ 4) มาตรการคุมขังฉุกเฉิน
ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวเปิดการประชุมและเยี่ยมชมนิทรรศการของกระทรวงยุติธรรมซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้ นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงยุติธรรมในการสร้างสังคมปลอดภัย” โดยมีพันตำรวจโท ดร.พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวรายงานถึงที่มาของการประชุมเสวนาฯ ในครั้งนี้
ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึง พัฒนาการที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมไทย เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา จากเดิมกระทรวงยุติธรรม เป็นกระทรวงของศาล มีเพียงผู้พิพากษาทำหน้าที่พิจารณาคดีตามกฎหมาย และยังไม่มีแม้แต่การคุมประพฤติ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการก่อตั้งหน่วยงานขึ้นภายในศาลยุติธรรม คือ กองคุมความประพฤติ (Probation Office) มีการปฏิบัติงานใน 2 ระดับชั้น คือ 1) ตรวจสอบความประพฤติ และ 2)จัดทำรายงานความประพฤติเพื่อเสนอต่อศาล ต่อมาในช่วงปี 2540 มีการแยกฝ่ายธุรการออกจากศาลยุติธรรม จึงเกิดกรมคุมประพฤติขึ้น ต่อจากนั้น จึงมีการแก้ไขกฎหมายหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และมีการพัฒนากฎหมายเพื่อหาจุดสมดุลหรือมีความเหมาะสมเพื่อให้เกิดกฎหมายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งกฎหมายเพื่อป้องกันคดีทางเพศ และการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งมีการนำเครื่องมือต่างๆ มาใช้ เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM)
นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 กระทรวงยุติธรรมได้ขับเคลื่อนกฎหมาย โดยได้จัดทำกฎหมายลำดับรองจำนวน 4 ฉบับ และ การลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ในการสร้างความปลอดภัยในสังคม ซึ่งมีคณะกรรมการดำเนินงานตามกฎหมายเพื่อป้องกันและลดความเสียหายและความสูญเสียของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ และกำหนดมาตรการที่หลากหลายให้เหมาะสมกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษมากยิ่งขึ้น
สำหรับการเสวนาทางวิชาการในวันนี้ ได้รับเกียรติจากท่านสมาชิกวุฒิสภา ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้บริหารหน่วยงานเข้าร่วมเป็นวิทยากร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในมุมมองของผู้ขับเคลื่อนกฎหมายไปสู่ผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อการปฏิบัติเป็นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวิทยากรเข้าร่วมเสวนา ดังต่อไปนี้
1.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา
2.นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา
3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา
4.รองศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5.นายกุญช์ฐาน์ ทัดทูน อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
6.นายแพทย์ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
7.นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์
8. พันตำรวจโทมนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ
ท่านวิทยากรได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ กล่าวถึง แนวคิด ทฤษฎี และที่มาของกฎหมาย รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของต่างประเทศ และกล่าวไปถึงมุมมองการบังคับใช้กฎหมายในมิติต่าง ๆ เช่น มิติการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล มิติการกำหนดมาตรการต่างๆ อาทิ การใช้มาตรการทางการแพทย์ มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังฉุกเฉิน มิติความคาดหวังของสังคมที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม อาทิ การสร้างการรับรู้ความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และมิติบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานในด้านกระบวนยุติธรรมในการป้องกัน แก้ไขฟื้นฟู และเฝ้าระวังผู้กระทำผิดในคดีทางเพศหรือความผิดที่ใช้ความรุนแรงเพื่อป้องการกระทำผิดซ้ำ
นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้กฎหมาย โดยมี กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานกิจการยุติธรรม นำเสนอเกี่ยวกับขั้นตอนการใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดทางเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง และมาตรการทางการแพทย์ รวมถึงสถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษ โดยนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring: EM) มาใช้เป็นกลไกสำคัญในการเฝ้าระวังผู้กระทำผิดภายหลังพ้นโทษ และจัดทำสื่อความรู้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ภาคสังคม และภาคประชาชน ที่มีส่วนช่วยกันส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในสังคมจากการก่ออาชญากรรม
ทั้งนี้ นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวเน้นย้ำว่า “ถ้าสังคมรับรู้ ว่ามีบุคคลอันตรายอยู่ในสังคมนั้น ก็จะมีผู้ได้รับความเสียหาย หรือต้องเสียชีวิต เพราะเหตุอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ ซ้ำแล้วซ้ำอีก” ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตและร่างกายของประชาชน และสังคมก็จะได้รับความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะ “กฎหมายดี สังคมปลอดภัย ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม”