วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. พันตำรวจโทพงษ์ธร ธัญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้ นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมงานเสวนาทางวิชาการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในหัวข้อ “132 ปี กระทรวงยุติธรรม ก้าวต่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบริหารงานยุติธรรมของประเทศ” ณ ห้อง Auditorium 10-09 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในการเสวนา ทั้งหมด 4 ท่าน ดังนี้
1. ศาตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย
2. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
3. ว่าที่ร้อยตรีถวัลย์ รุยาพร อดีตนายกสภาทนายความ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และมี นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยการเสวนาในประเด็น ดังนี้
1. บทบาทของกระทรวงยุติธรรมในการบริหารงานยุติธรรมของประเทศ ในมุมมองของนักวิชาการและประชาชนทั่วไป
2. วิพากษ์กฎหมายใหม่ของกระทรวงยุติธรรม เช่น พระราบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2535
3. ความเชื่อมั่น ความคาดหวัง และโอกาสของกระทรวงยุติธรรมในการก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลาง การบริหารงานยุติธรรมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งวิทยากรได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ การทำงานของกระทรวงยุติธรรมที่ผ่านมา และบทบาทของกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยผู้กระทำผิดได้กลับคืนสู่สังคม มีชีวิตที่ดีและไม่กระทำผิดซ้ำ, ประเด็นการยกร่างกฎหมายเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งของเด็กและเยาวชน รวมถึงการเป็นทำให้กระทรวงยุติธรรมเป็นศูนย์กลางของการบริหารงานยุติธรรม
ทั้งนี้ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ หนึ่งในวิทยากรได้เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสำนักงานกิจการยุติธรรม และโดยโครงสร้างของสำนักงานกิจการยุติธรรม คือ 1. ทำหน้าที่เป็น Research Development 2. ทำหน้าที่ด้านนโยบายและแผน อย่างไรก็ตามงานวิจัยของสำนักงานกิจการยุติธรรมส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นสำนักงานกิจการยุติธรรมควรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน ให้ข้อมูลผู้บริหารและองค์กร และแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือในการช่วยกันขยายผล และแสวงหาองค์ความรู้และนำไปปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมต่อไป