การประชุมทางวิชาการวิพากษ์ผลการศึกษาวิจัยในโครงการวิจัยกระบวนการยุติธรรมกับการจัดการภาวะวิกฤติเพื่อสร้างความยุติธรรมถ้วนหน้าและเท่าเทียม

Pic for web 09 2023 18

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการวิพากษ์ผลการศึกษาวิจัยในโครงการวิจัยกระบวนการยุติธรรมกับการจัดการภาวะวิกฤติเพื่อสร้างความยุติธรรมถ้วนหน้าและเท่าเทียม ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 57 คน โดยมีการอภิปรายผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยประกอบไปด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่

1) การอภิปรายผลการดำเนินงานการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการก่ออาชญากรรม และนำไปสู่การพัฒนาตัวแบบการพยากรณ์แนวโน้มและอัตราการเกิดอาชญากรรมในภาวะวิกฤติ โดย ดร.ณัฐกฤษณ์ บำรุงวงศ์ จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายณรัฐ ใจตุ้ย ซึ่งเป็นคณะวิจัยของ ดร. ธันยพร สุนทรธรรม จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2) การอภิปรายผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยการสำรวจสถิติอาชญากรรมที่เกิดขึ้นภายหลังภาวะวิกฤติ โดย ผศ.ดร.ประพิน นุชเปี่ยม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

3) การรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ทางวิชาการเพื่อวิพากษ์ผลการศึกษาวิจัยในโครงการวิจัยกระบวนการยุติธรรมกับการจัดการภาวะวิกฤติเพื่อสร้างความยุติธรรมถ้วนหน้าและเท่าเทียม

สรุปอภิปรายการวิพากษ์ผลการศึกษาวิจัย

1) ข้อเสนอแนะอันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการนำข้อมูลไปสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำฐานข้อมูลไปวิเคราะห์และขับเคลื่อนพัฒนากลไกไปสู่การกำหนดนโยบายในอนาคต อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงทำให้เกิดอุปสรรคบางประการในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน

2) การผลักดันให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเกิดความร่วมมือในการขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าของฐานข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อน และผิดพลาดของฐานข้อมูล ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำฐานข้อมูลไปใช้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์สูงสุด

3) ข้อเสนอแนะให้คณะวิจัยทำการวิเคราะห์ผลอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังภาวะวิกฤติCovid19 และทำการแบ่งแยกฐานคดี
ยาเสพติดให้ชัดเจน ตั้งแต่ชั้นจับกุม รวมถึงชั้นหลังการพิพากษา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

4) จากบทเรียนตัวอย่างที่ดีในการรับมือกับสถานการณ์ภาวะวิกฤติควรมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานในแต่ละส่วนงาน เพื่อให้
ยังคงสามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้การออกกฎหมายที่จำเป็น ด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส และเหมาะสมในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ตลอดจนการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนและทำการสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจถึงสถานการณ์แนวปฏิบัติที่เปลี่ยนไปของหน่วยงานในภาวะวิกฤติ ยังสามารถช่วยส่งเสริมกลไกการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพเท่าทันต่อความเร่งรัด
ในสภาวะวิกฤติมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ คณะวิจัยและผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวทางการพยากรณ์พฤติกรรมความผิดและการสำรวจสถิติอาชญากรรมที่เกิดขึ้นภายหลังภาวะวิกฤติ เพื่อให้คณะวิจัยได้นำข้อมูลที่ได้จากการประชุมฯ ครั้งนี้ ไปดำเนินการในการจัดทำผลการศึกษาวิจัยต่อไป

93 Views