สกธ. ร่วมจัดนิทรรศการในงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 5

Picforweb1

วันที่ 20 เมษายน 2567 นายไชยสุวัฒน์ ถุงเงิน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบงานยุติธรรม พร้อมด้วยนายนิทัศน์ แสงวัฒนะ ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า การจัดงานในวันนี้เป็นงานที่ให้โอกาสมนุษย์ทุกคน โดยมี 2 สิ่ง คือ ความหวังหรือความฝันและความกลัวที่อาจเกิดขึ้นกับทุกคนได้เสมอ ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น ได้รับมอบภารกิจด้านการแก้ปัญหายาเสพติด การปราบปรามผู้มีอิทธิพล และสุดท้ายคืองานแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูง อีกทั้งหนี้ข้าราชการที่มีจำนวนมากเช่นกัน ปัจจุบันหนี้สินของประชาชนกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจและทำร้ายประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และภาคีเครือข่ายถือว่าการแก้ปัญหาหนี้เป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน เป็นงานของฝ่ายปกครองที่สำคัญและยิ่งใหญ่มาก เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหา วันนี้ลูกหนี้ กยศ. โดยเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ในเรือนจำจังหวัดขอนแก่นจำนวน 127 คน บางส่วนเป็นหนี้มากกว่า 400,000 บาท ซึ่งต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะข้าราชการครูที่เป็นหนี้สหกรณ์ เป็นต้น

ภายในงานได้มีการจัดนิทรรศการให้บริการประชาชน โดยสำนักงานกิจการยุติธรรมได้ร่วมแสดงนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย และภารกิจของสำนักงานกิจการยุติธรรมในงานดังกล่าว

นอกจากนี้ในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567 สำนักงานกิจการยุติธรรมร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดขอนแก่น จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากระบวนการยุติธรรมตามมติคณะรัฐมนตรีในพื้นที่และเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย : การถอดบทเรียนเสริมพลังกลไกการดำเนินงานด้านการป้องกันอาชญากรรม ณ เทศบาลตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยผลการถอดบทเรียนของเทศบาลตำบลท่าพระ คือการ “ลดภัย (อาชญากรรม) ในชุมชน ประชาชนมีความสุข” แนวคิดในการสนับสนุนหรือส่งเสริมนโยบายการหยุดการก่ออาชญากรรมโดยกลุ่มเป้าหมายหลักประกอบด้วย ประชาชน และหน่วยงานภาครัฐ ผ่านกระบวนการให้ความรู้และสร้างความสามัคคีให้กับประชาชน และได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการป้องกันอาชญากรรมในชุมชน โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การสร้างกลไกระบบที่มีชื่อว่า เกลียวความรู้ (Word of Mouth) การตั้งศูนย์ป้องกันอาญากรรม การจัดทำแผนงาน การบูรณาการของทุกภาคส่วน และกระบวนการสื่อสาร การให้ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมต่อประชาชน ซึ่งสิ่งที่ประชาชนต้องการจากส่วนราชการมากที่สุด 3 ด้าน ได้แก่ 1. ขอให้ชาวบ้านมีความสุข ปราศจากอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ 2. ขอให้หน่วยงานรัฐให้ความสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรม 3. ขอให้ประเทศไทย ประชาชนคนไทยทุกคน หลุดพ้นจากปัญหาต่าง ๆ ได้จริง

120 Views