วันที่ 20 เมษายน 2567 เวลา 13.00 น. ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นวิทยากรในงานเสวนาวิชาการ “หนทางแก้ปัญหาแยกผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีออกจากนักโทษเด็ดขาดให้เป็นไปตามหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์” ร่วมกับผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ ผศ. รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และ นพ. สมภพ สังคุตแก้ว หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. หัวข้อ “ปัญหาและความสำคัญกรณีผู้ต้องขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดีในประเทศไทยถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับนักโทษเด็ดขาด”
ได้มีการบรรยายถึงสถิติของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง หากศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การจับไปขังจะกระทบกับสิทธิเสรีภาพ และการเตรียมตัวขึ้นศาล แต่เมื่อจะปล่อยก็จำต้องมีเครื่องกรอง และหากจะขังต้องเข้าเงื่อนไขมีความเสี่ยงที่จะหลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปทำความเสียหายให้กับบุคคลอื่น ซึ่งในต่างประเทศจะมีศูนย์แยกผู้ต้องขังระหว่างออกมาเป็นการเฉพาะ
2. หัวข้อ “การดำเนินการแยกผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีออกจากนักโทษเด็ดขาดตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
ได้บรรยายถึงความพยายามของกรมราชทัณฑ์ที่ทำเป็นเรือนจำหลายแดนเพื่อแยกผู้ต้องขังระหว่างออกมาโดยเฉพาะ ไม่ให้ปะปนกับนักโทษเด็ดขาด และมีการทำ MOU ร่วมกับศาล ทนายความและยุติธรรมจังหวัด ให้เข้ามาช่วยให้คำปรึกษา
3. หัวข้อ “ ร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีไว้ในสถานที่อื่น ที่มา เนื้อหากฎหมาย โอกาส และความท้าทาย”
ได้บรรยายถึงสาเหตุที่กฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ทำให้ต้องมีการยกร่างกฎกระทรวงกำหนดวิธีการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีไว้ในสถานที่อื่น พ.ศ. …. ขึ้นใหม่ พร้อมกับบรรยายถึงสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ และการเตรียมความพร้อมในการรองรับร่างกฎกระทรวงฯ
4. หัวข้อ “ความคืบหน้าแต่ละหน่วยงาน ความพึงพอใจในการแก้ปัญหา และข้อเสนอแนะอื่นๆ เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน”
ได้อภิปรายถึงแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาที่จำเป็นต้องมีการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายรองรับแล้ว
187 Views