วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. พันตํารวจโท มนตรี บุณยโยธิน รองผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อวิพากษ์ผลงานวิจัย ในโครงการการออกแบบและก่อสร้างสถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวัง ตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรับมือภาวะวิกฤติจากโรคระบาดในสถานที่ควบคุม/คุมขัง และเป็นการต่อยอดผลลัพธ์จากการประชุมคณะทำงานย่อยชุดโครงการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรับมือภาวะวิกฤติจากโรคระบาดในสถานที่ควบคุม/คุมขัง โครงการย่อยที่ 2 การออกแบบและก่อสร้างสถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวัง ตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จํานวน 35 คน
การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยและรับฟังความคิดเห็น เพื่อสรุปและรวบรวมผลการประชุมวิชาการและวิพากษ์ เพื่อจัดทําข้อสังเกตและข้อเสนอแนะประกอบผลการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นแนวทางกําหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การดําเนินงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมไทยให้สามารถนํางานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงให้ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ และอภิปรายผลการดําเนินงานของกิจกรรมในโครงการดังกล่าว ภายใต้การกํากับของสํานักงานกิจการยุติธรรม โดยมีการอภิปรายผลการดําเนินงานของโครงการวิจัยประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. การอภิปรายผลการศึกษาวิจัย หัวข้อ “การออกแบบและก่อสร้างสถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวัง ตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร และนายกิตตินันท์ ตันติวงศ์ และ 2. การรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้เพื่อวิพากษ์ผลงานวิจัยในโครงการการออกแบบและก่อสร้างสถานที่คุมขังภายหลังพ้นโทษแก่ผู้ถูกเฝ้าระวังตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศ หรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งสรุปอภิปรายการวิพากษ์ผลงานวิจัยได้ ดังนี้
1) จากการจัดกลุ่มผู้พ้นโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 จำนวน 6 กลุ่ม สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง และกลุ่มผู้กระทำความผิดทางเพศ
2) แนวคิดการฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับคืนสู่สังคมโดยเพิ่มทักษะทางสังคม ทักษะด้านอาชีพ และการบำบัดจิตใจ ด้วยแนวคิด “การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ช่วยส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมที่ดี” จากการวิเคราะห์กลุ่มผู้ถูกเฝ้าระวัง 3 ระดับ ได้แก่ (1) กลุ่มสีแดง ระดับผู้ป่วยจิตเวชซึ่งอยู่ในระดับที่ผู้คนในสังคมมีความหวาดระแวง – หวาดกลัวจำเป็นต้องมีการควบคุมอย่างเข้มข้น มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาอย่างต่อเนื่อง (2) กลุ่มสีเหลือง ระดับที่สังคมหวาดระแวงแต่ยังสามารถให้โอกาสโดยอาศัยการสร้างกฎการอยู่ร่วมกัน สามารถ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นเรือนจำ (3) กลุ่มสีเขียว ระดับที่สังคมไม่ติดใจสงสัยมีความเป็นอิสระสูง โดยมีการกำหนดกฎระเบียบบางประการเพื่อความปลอดภัยของสังคม
3) ข้อเสนอแนะด้านความปลอดภัยการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเสี่ยงต่อพฤติกรรมของผู้พ้นโทษให้สอดคล้องกับกลุ่มบุคคลรวมถึงปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อเป็นนโยบายในการจัดทำการออกแบบและก่อสร้างสถานที่สำหรับควบคุม/คุมขังภายหลังพ้นโทษ
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยและผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวทางตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทําความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เพื่อให้คณะผู้วิจัยได้นําข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ไปดําเนินการในการจัดทําผลการศึกษาวิจัยเล่มรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อไป