การประชุมคณะอนุกรรมการ ชุดที่ 3 ด้านการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย ครั้งที่ 1/2567

6

วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.30 น. พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม พร้อมด้วยนายนิทัศน์ แสงวัฒนะ ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม และเจ้าหน้าที่สำนักงานกิจการยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการ ชุดที่ 3 ด้านการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายธนา เวสโกสิทธิ์ เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยพลเอกกฤษณะ บวรรัตนารักษ์ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช พันเอก สาตถพงศ์ รัตนวิจิตร นางสาวอรุณศรี วิชชาวุธ และพันตำรวจเอก ฐานพันธ์ เฉลิมพัชรพรกุล ด้วยวิธีการประชุมทางไกลผ่านระบบ Cisco Webex Meeting

ที่ประชุมรับทราบคำสั่งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนและการพัฒนาการเสริมสร้างหลักนิติธรรมแห่งชาติ ตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนและการพัฒนาการเสริมสร้างหลักนิติธรรมแห่งชาติ (กขนช.) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ เพื่อให้การดำเนินงานขับเคลื่อนและพัฒนาการเสริมสร้างหลักนิติธรรมของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอนุกรรมการประกอบด้วย คณะอนุกรรมการชุดที่ 1 ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพและการบริหารจัดการ คณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ด้านการพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย และคณะอนุกรรมการชุดที่ 4 ด้านกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและอาญา

นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมาย โดยพิจารณาตามเกณฑ์ค่าคะแนน 4 ระดับ ของปัจจัยที่ 5 ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง และปัจจัยที่ 6 การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งปัจจัยสีแดงคือปัจจัยที่ต้องดำเนินการทันที และสีเหลืองคือปัจจัยที่ควรปรับปรุง ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้ปัจจัยหลักที่ 6 การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ปัจจัยย่อยที่ 6.4 กระบวนการ ของฝ่ายบริหารยึดหลักเคารพสิทธิของประชาชนโดยการใช้อำนาจต้องมีกฎหมายรองรับและปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดที่มีค่าคะแนนเป็นสีแดง เป็นปัจจัยที่ต้องดำเนินการทันที โดยนำข้อคำถามทั้ง 4 ข้อของปัจจัยย่อยที่ 6.4 มาพิจารณา และนำปัจจัยย่อยที่ 5.3 ประชาชนไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขปัญหาความคับแค้นส่วนตัวมาพิจารณาเพิ่มเติม อีกทั้งเห็นควรเพิ่มกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยดังกล่าว แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาของการทำงานอนุกรรมการในขั้นแรกที่ประชุมเห็นควรพิจารณาปัจจัยย่อยที่ 6.4 เป็นอันดับแรก และเห็นว่าเรื่องที่พิจารณาเป็นประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย จึงขอให้ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมการประชุมและนำเสนอแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับข้อคำถามมานำเสนอในที่ประชุมในคราวต่อไป

65 Views