วันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 น. พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันอาชญากรรมกับการอำนวยความยุติธรรมในสังคม Crime Prevention รุ่นที่ 8 (CP8) และบรรยายพิเศษ หัวข้อ “แนวทางการป้องกันอาชญากรรมตามมติ คณะรัฐมนตรี 24 มกราคม 2560″ ได้กล่าวถึง กรอบแนวทางในการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ 6 ด้าน ประกอบด้วย 1) การป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม เช่น การปรับปรุงพื้นที่ล่อแหลม การติดไฟส่องสว่าง 2) การมีส่วนร่วมของประชาชน ช่วยกันตรวจตรา 3) การป้องกันการกระทำผิดซ้ำ 4) การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสทำผิด 5) การลดโอกาสการตกเป็นเหยื่อ และ 6) การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรในการป้องกันอาชญากรรม อีกทั้งรัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในด้านการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยได้ฝากความคาดหวังผลผลิตจากผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร CP8 เมื่อได้ร่วมเรียนรู้และมีความเข้าใจร่วมกันถึงวัตถุประสงค์ปลายทางของกระบวนการยุติธรรมแล้ว จะสามารถช่วยกันผลักดันและพัฒนาในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปในปัจจุบันให้ลดลงได้ในอนาคต
นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และพันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายของรัฐบาลในการป้องกันอาชญากรรม” ได้กล่าวถึง นโยบายหลักที่กระทรวงยุติธรรม ให้ความสำคัญและมุ่งเน้น ได้แก่ การนำความยุติธรรมเข้าหาประชาชนอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า เพราะการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ประชาชนต้องได้และคติพจน์ “กันไว้ดีกว่าแก้” เนื่องจากการป้องกันอาชญากรรมเป็นเป้าประสงค์สูงสุดของกระบวนการยุติธรรม หนึ่งในกระบวนการป้องกันคือการให้การศึกษา เนื่องจากพบว่าผู้ต้องขังจำนวนมากที่ไม่ได้รับการศึกษา อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้กลายเป็นผู้กระทำผิดและอาจกระทำผิดซ้ำได้ ดังนั้น จึงเน้นนโยบายการศึกษาภาคบังคับแก่เยาวชน และส่งเสริมการศึกษาแก่ผู้ต้องขังเพื่อการพัฒนากล่อมเกลาจิตใจและยกระดับตนเองเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ
นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และนายนิทัศน์ แสงวัฒนะ ผู้อำนวยการกองนโยบายและประสานแผน กระบวนการยุติธรรม ได้บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ การพัฒนาความพร้อมให้เท่าทันและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี : ศูนย์ปฏิบัติการฐานข้อมูลการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช. Warroom)” ซึ่งเป็นภารกิจที่สำนักงานกิจการยุติธรรมกำลังขับเคลื่อนด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและบูรณาการเชื่อมโยงทุกหน่วยงานร่วมกัน และสร้างโครงการ เครื่องมือ และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องมั่นใจให้กับประชาชน ทั้งนี้ เพราะความไม่รู้ จะทำให้คนตกเป็นเหยื่อ รวมถึงตัดสินใจก่ออาชญากรรมได้ โดยเฉพาะการไม่รู้ไม่เข้าใจกฎหมาย ขั้นตอน และบทลงโทษต่าง ๆ รวมถึงการไม่รู้ถึงพื้นที่สุ่มเสี่ยงเกิดอาชญากรรม จึงพัฒนา Big Data Platform เช่น Justice2know และระบบพยากรณ์สถานการณ์อาชญากรรม (Safe Points) ขึ้นมาเพื่อบริการดูแลประชาชนร่วมกัน