บทบาทยุติธรรมชุมชนกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนางานยุติธรรม

 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2561 ณ โรงแรมริมปาว อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์

ในช่วงเช้า ( 09.30 น.) นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวต้อนรับ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีกล่าวเปิดและบรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทยุติธรรมชุมชนกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนางานยุติธรรม” ในโครงการอบรมคณะกรรมการศูนย์ยุติธรรมชุมชน รุ่นที่ 5 โดยมี นายวัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวรายงาน

ภายหลังพิธีเปิดงาน ปยธ. และ ผอ.สกธ. เดินทางไปร่วมกิจกรรม “รถให้ความรู้เคลื่อนที่” ภายใต้โครงการ “ชื่นใจ…คนไทยรู้กฎหมาย” ที่โรงเรียนอนุกูลนารี โดยได้ร่วมทำกิจกรรมถามตอบปัญหากับนักเรียนโรงเรียนอนุกูลนารี และจากนั้นเดินทางไปยังสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานตามข้อสั่งการ/นโยบาย ร่วมกันในประเด็นต่างๆ เช่น การบูรณาการการให้บริการประชาชน การอัพเดทข้อมูลในเว็บไซต์ของ สยจ. และการแก้ไขปัญหาพื้นที่ในจังหวัดตามแนวทาง “กาฬสินธุ์โมเดล”

ในช่วงบ่าย ( 13.00 น.)
บรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ยุติธรรมชุมชน พลังประชาชน” โดย นางกรรณิการ์ แสงทอง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

การดำเนินงานของศูนย์ยุติธรรมชุมชนโดยการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชนแบบการเป็นหุ้นส่วนในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ศยช. จึงได้มีการแต่งตั้ง คกก.ศยช. โดยคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ความยุติธรรมอยู่ใกล้กับประชาชนมากที่สุด

การแก้ไขปัญหา “คนล้นคุก” คดีส่วนใหญ่ คือ คดียาเสพติด ในเบื้องต้นปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนในการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในชุมชนด้วย และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูผู้พ้นโทษ

การบูรณาการระบบงานช่วยเหลือ โดยการทำงานของสำนักงานยุติธรรมจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ ผ่านกลไก กพยจ. ต้องไม่คำนึงว่างานเป็นงานของใคร ต้องคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดต้องมีการบูรณาการงานร่วมกัน เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลและส่งต่องานเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน

ต่อมาเป็นการบรรยายพิเศษของ นายวัลลภ นาคบัว ผู้อำนวยการสำนักกิจการยุติธรรม ในหัวข้อเรื่อง “รู้จัก กพยจ. : บทบาทใหม่ของยุติธรรมจังหวัด”

การสร้างกลไกการอำนวยความยุติธรรมและประสานความร่วมมือระดับจังหวัดผ่าน คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด (กพยจ.) โดยมุ่งเน้นการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการอำนวยความยุติธรรมในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน และการกำหนดแนวทางการป้องกัน เฝ้าระวังอาชญากรรมและการกระทำผิดในพื้นที่ ตลอดจนการสร้างการรับรู้ในระดับพื้นที่จังหวัด

กาฬสินธุ์โมเดล สกธ. ได้มีการขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการ ภายใต้สโลแกน “คนกาฬสินธุ์ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยเป็นการขับเคลื่อนในกรอบการดำเนินงาน 4 ด้าน ได้แก่
(1) การสร้างการรับรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
(2) บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย
(3) เสริมสร้างศักยภาพชุมชน
(4) การป้องกันอาชญากรรม

จากนั้น เป็นกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายเบื้องต้น ผ่านเกม “The Choice ทางเลือก ทางรอด” ดำเนินการโดย ทีมศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื้อหาเป็นเกมสมมติสถานการณ์จำลองด้านหนี้นอกระบบ และให้สมาชิกแต่ละกลุ่มร่วมกันตัดสินใจเลือกทางที่คิดว่าถูกต้องเหมาะสม ซึ่งผู้เข้าอบรมได้ให้ความสนใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเป็นอย่างดี

131 Views