เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสำนักงานกิจการยุติธรรม 2 (JA2) ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มอบหมายให้นางขัตติยา รัตนดิลก ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมการประชุมชี้แจงรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ด้วยวิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Microsoft Teams (ครั้งที่ 23)
ที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำฯ ภาพรวมทั้งฉบับ ซึ่งได้มีการปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฯ ให้มีความถูกต้อง เหมาะสม และสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อสรุปในประเด็นสำคัญไว้ดังนี้
1. ชื่อกฎหมาย เดิม “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….” แก้ไขเป็น “ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….”
2. เรื่อง ระยะเวลาในการกำหนด/สั่งใช้มาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
– การเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ (เช่น ติดกำไล EM ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ และให้ไปบำบัดรักษาฯ) ซึ่งเดิม กำหนดไว้ 15 ปี ปรับแก้ไขเหลือ 5 ปี
– การคุมขังภายหลังพ้นโทษ ระยะเวลา 3 ปี (คงเดิม/ไม่มีแก้ไข)
– การคุมขังฉุกเฉิน ระยะเวลา 7 วัน (คงเดิม/ไม่มีแก้ไข)
3. เรื่อง การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (กำไล EM) เดิม กำหนดให้เป็นมาตรการหลักในการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ ปรับแก้ไขเป็น ตัวเลือกหนึ่งในมาตรการเท่านั้น (ศาลจะสั่งติดกำไล EM หรือไม่สั่งก็ได้)
4. เรื่อง การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่กระทำความผิดตามร่างพระราชบัญญัติฯ เห็นควรให้ตัดเรื่องนี้ออก และใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 แทน
ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ รับไปปรับแก้ไขร่างฯ ให้เรียบร้อย และส่งเรื่องให้ส่วนราชการยืนยันร่าง และเสนอเรื่องเข้า ครม. ตามขั้นตอน ต่อไป
124 Views