วันที่ 28 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่และเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569) พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ พร้อมด้วยนางสาวสุพรรณี ประเสริฐทองกร นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม และผู้แทนจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 48 หน่วยงาน รวมจำนวน 108 คน เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้รับเกียรติจากคณะที่ปรึกษาโครงการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569) พ.ต.ท.ดร. เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ ผู้อำนวยการบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) และผศ.ดร.ปรีชญาณ์ นักฟ้อน อาจารย์ประจำสาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในการประชุมครั้งนี้
โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้นำเสนอกรอบแนวคิด สาระสำคัญ มิติทางการบริหารและแนวทางการดำเนินงานของ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569) ต่อที่ประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้ วิสัยทัศน์ : สร้างความร่วมมือในการบริหารงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยยึดหลักนิติธรรม พันธกิจ 1. มุ่งสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน 2. พัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 3. ประสานความร่วมมือในการบริหารงานยุติธรรมให้มีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป้าหมายภาพรวม เป้าหมายที่ 1 ประชาชนได้รับความเป็นยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เป้าหมายที่ 2 การบริหารงานยุติธรรมแบบประสานสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน มิติทางการบริหารงาน อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดการบริหารงานยุติธรรมการอำนวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 3 มิติหลัก ได้แก่ มิติที่ 1 การสร้างความเป็นธรรมภายใต้กฎหมายเดียวกัน มิติที่ 2 การพัฒนากระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล มิติที่ 3 การประสานความร่วมมือในการบริหารงานยุติธรรม
ซึ่งที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินงาน อาทิ การวัดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม การสร้างความรู้และการตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกระดับ รวมถึงการเชื่อมโยงแผนระดับต่าง ๆ และนโยบายด้านการบริหารและพัฒนากระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การวิเคราะห์โครงการ/กิจกรรมสำคัญมีความสอดคล้องและสามารถขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งตอบสนองต่อแผนระดับ 1 และระดับ 2 ได้อย่างครอบคลุม และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณารายละเอียดโครงการ/กิจกรรมที่สอดคล้องตามมิติการบริหาร และแนวทางการดำเนินงานตาม (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2569) และจัดส่งมายังสำนักงานกิจการยุติธรรม เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการเสนอ (ร่าง) แผนแม่บทฯ ฉบับที่ 4 ต่อคณะอนุกรรมการประสานและพัฒนาระบบงานยุติธรรม และคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ในลำดับต่อไป