ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ

วันนี้ (17 มกราคม 2560) เวลา 09.00 น.ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี    พร้อมด้วย พันเอกหญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้ร่วมแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี  ซึ่งมีเรื่องที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้

f5b78a3e656e13fcb9f31afe9b4585eb_M

เรื่อง แนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ประธานกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (ประธาน กพยช.) เสนอ ดังนี้

1. แนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ

2. แผนปฏิบัติการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ

3. แบบตรวจสอบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ

4. มอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้

4.1 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่กฎหมายที่ได้ประกาศในราชกิจนุเบกษาแล้ว

4.2 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ฐานข้อมูลของกฎหมายทั้งหมด

4.3 ให้โฆษกกระทรวงมีหน้าที่เผยแพร่กฎหมายที่กระทรวงรับผิดชอบเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ

4.4 ให้สำนักงานกิจการยุติธรรมเป็นศูนย์ข้อมูลการเผยแพร่กฎหมาย โดยมีหน้าที่ดำเนินการเผยแพร่กฎหมาย กำกับดูแล และประสานงานกับหน่วยงาน สถาบันการศึกษา องค์กรภาคเอกชน และ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่กฎหมาย

 

สาระสำคัญของเรื่อง

1. แนวทางการเผยแพร่กฎหมาย เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย หน่วยงานที่มีบทบาทในการเผยแพร่กฎหมาย กรอบของกฎหมายที่จะต้องมีการเผยแพร่ กลุ่มเป้าหมาย สื่อหรือช่องทางที่ใช้ในการสื่อสาร การติดตามและประเมินผลการดำเนินการ ระยะเวลาดำเนินการ และการบูรณาการเพื่อการเผยแพร่กฎหมาย

2. แผนปฏิบัติการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ โดยแบ่งเป็น 3 แผน ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการที่ 1 การเผยแพร่กฎหมายใหม่และที่แก้ไขเพิ่มเติมและกฎหมายที่ประชาชนควรรู้ แผนปฏิบัติการที่ 2 การเผยแพร่กฎหมายที่เด็กและเยาวชนควรรู้ และแผนปฏิบัติการที่ 3 การเผยแพร่กฎหมายที่สื่อมวลชนควรรู้ ทั้งนี้ แผนดังกล่าวให้หน่วยงานที่มีบทบาทในการเผยแพร่กฎหมาย (หน่วยงานผู้เสนอกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย หน่วยงานที่ผู้มีบทบาทร่วมในการเผยแพร่กฎหมาย หน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนการใช้กฎหมาย และสื่อสารมวลชน) เป็นผู้เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนต่อไป

3. แบบตรวจสอบการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เสนอให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายต้องจัดทำแบบตรวจสอบแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เสนอให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายจะต้องเสนอแบบตรวจสอบดังกล่าวในขั้นตอนของการเสนอหรือปรับปรุงร่างกฎหมายก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี และเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการของร่างกฎหมายให้ สลค. ส่งให้สำนักงานกิจการยุติธรรมพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแนวทางการเผยแพร่กฎหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนและหน่วยงานภาครัฐต่อไป

 

 

108 Views