bannersvcpnewrz

กฎหมายใหม่ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง มีผลใช้บังคับวันที่ 23 มกราคม 2566 เพื่อให้สังคมและประชาชนรู้สึกปลอดภัยจากบุคคลอันตราย

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในอีก 90 วัน (วันที่ 23 มกราคม 2566) กฎหมายใหม่ฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความทันสมัยตามหลักสากล โดยการการกำหนดให้มีมาตรการพิเศษทางกฎหมายและทางปฏิบัติ เพื่อแก้ไขฟื้นฟู ป้องกัน และเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญ สร้างความปลอดภัยให้สังคม รวมถึงแก้ไขปัญหาและลดการกลับมากระทำผิดซ้ำ โดยสรุปภาพรวมของกฎหมายได้ดังนี้

–  กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับกับผู้ที่ทำความผิดในคดี ฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา การกระทำความผิดทางเพศกับเด็ก การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส รวมทั้งการนำตัวบุคคลไปเรียกค่าไถ่ (ผู้กระทำความผิด 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) เพศ (2) ชีวิตและร่างกาย และ (3) เรียกค่าไถ่ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จำนวน 12 มาตรา)

–  เน้นการใช้มาตรการที่เหมาะสมกับการแก้ไขฟื้นฟู/รักษา ผู้กระทำความผิด มากกว่าการลงโทษมี 4 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด รวมถึงมาตรการทางการแพทย์ (2) มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ (3) มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และ (4) การคุมขังฉุกเฉิน

–  ระยะเวลาในการใช้มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และมาตรการทางการแพทย์ ใช้ระหว่างรับโทษในเรือนจำ (นักโทษเด็ดขาด) (2) มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ 10 ปี เช่น ห้ามเข้าเขตกำหนด การติดกำไลอีเอ็ม ให้เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง รวมถึงมีอาสาสมัครคุมประพฤติช่วยติดตาม หากผู้ถูกเฝ้าระวัง มีพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะถูกควบคุมตัวทันที เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรง (๓) มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ 3 ปี และ (4) การคุมขังฉุกเฉิน 7 วัน ซึ่งทุกมาตรการรวมกันต้องไม่เกิน 10 ปี

–  การนำมาตรการมาใช้บังคับ อาจมีผลเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เท่าที่จำเป็น รัดกุม และเป็นธรรม ประการสำคัญจะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนหรือความสมดุลระหว่างการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้กระทำความผิดกับความปลอดภัยของสังคมด้วย

–  พระราชบัญญัติฯ มี 43 มาตรา แบ่งเป็น 7 หมวด และ 1 บทเฉพาะกาล ได้แก่ หมวด 1 คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ หมวด 2 คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ หมวด 3 มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด หมวด 4 มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ หมวด 5 มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ หมวด 6 การคุมขังฉุกเฉิน หมวด 7 การอุทธรณ์ และบทเฉพาะกาล

–  การใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และมาตรการทางการแพทย์ (ขั้นตอนอย่างย่อ)

–  อัยการยื่นศาล ขอใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด รวมถึงมาตรการทางการแพทย์ พร้อมคำฟ้องได้เลย

–  ศาลมีคำสั่งใช้มาตรการในคำพิพากษาและระบุในหมายจำคุก โดยกรมราชทัณฑ์เป็นผู้ดำเนินการ

–  แพทย์อย่างน้อย 2 คน ต้องเห็นพ้องต้องกัน ถ้าจะใช้ยาหรือการรักษาอย่างอื่น นักโทษเด็ดขาดต้องยินยอม

–  ผลของการใช้มาตรการ จะนำมาเป็นเงื่อนไข ใช้พิจารณา ลดโทษ/พักโทษ

–  การรักษามีด้วยกันหลายวิธี ทั้งใช้ยาและไม่ใช้ยา เช่น การใช้ยาโดยการฉีดและการกิน การบำบัดด้วยจิต การทำหัตถการต่าง ๆ เป็นต้น จึงไม่ได้มีแค่การ “ฉีดฝ่อ” เท่านั้น ซึ่งจะรักษาด้วยวิธีการใด แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการ วินิจฉัย และลงความเห็นทุกครั้ง

เอกสารเผยแพร่

1. พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 (Download)

2. สรุปสาระสำคัญกฎหมาย (Download)

3. ข้อมูลทางวิชาการ (Download)

4. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (Download)

5. รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมาย (Download)

Infographic

infoSVCP

สื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

 

สร้างความปลอดภัยให้สังคมด้วยกฎหมาย สร้างความมั่นใจให้ประชาชนด้วยการเฝ้าระวัง #กฎหมายดีสั่งความสุข

 

มาตรการป้องกันอันตรายจากผู้พ้นโทษที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคม

 

หยุดการก่ออาชญากรรมซ้ำ…สร้างสังคมปลอดภัย #คืนคนดีสู่สังคม

 

PODCAST

PODCAST | EP.1 รู้จักกฎหมายการป้องกันกระทำความผิดซ้ำ

 

PODCAST | EP.2 การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดคดีอุกฉกรรจ์ ที่ใช้ความรุนแรงหลังพ้นโทษด้วยกฎหมาย

 

PODCAST | EP.3 มาตรการทางการเเพทย์ตามกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง

 

PODCAST | EP.4 บทสรุปกฎหมายมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง

 

 

 

2,255 Views